เหรียญรัชกาลที่ 6 ปี 2505 เจ้าคุณนรฯเมตตาปลุกเสก

เหรียญรัชกาลที่ 6 ปี 2505 เจ้าคุณนรฯเมตตาปลุกเสก
หากเอ่ยชื่อ 'วัดเทพศิรินทราวาส' แล้ว นักนิยมพระเครื่องร้อยทั้งร้อยนึกถึง 'พระภิกษุธมฺมวิตกฺโก' พระยานรรัตน์ราชมานิต (ตรึก จินตยานนท์) หรือที่เรียกขานกันสั้นๆ ว่า 'เจ้าคุณนรฯ' พระภิกษุรูปหนึ่งที่ได้รับการยกย่องจากพุทธศาสนิกชนว่าเป็นอริยสงฆ์ผู้สำเร็จในยุคกึ่งพุทธกาล ด้วยจริยาวัตรอันงดงามของท่านที่เคร่งครัดและไม่ยึดติดในลาภ ยศ ชื่อเสียง
วัตถุมงคล 'เหรียญรัชกาลที่ 6' ของกรมการรักษาดินแดน สร้างปี 2505 เป็นของดีราคาถูกที่น่าสะสมบูชาอย่างยิ่ง 
เนื่องจากเหรียญชุดนี้ถูกจัดเข้าอยู่ในทำเนียบวัตถุมงคลของอดีตเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร แม้ว่าท่านจะมิได้เป็นพระภิกษุรูปเดียวที่ได้อธิษฐานจิตปลุกเสกเหรียญรัชกาลที่ 6 นี้ก็ตาม คือหมายความว่าเหรียญรุ่นนี้ได้ผ่านพิธีพุทธา ภิเษกหมู่โดยคณาจารย์หลายรูป แต่คนทั่วไปก็ยกเหรียญรัชกาลที่ 6 ให้เป็นของ 'เจ้าคุณนรฯ' 
ทำนองเดียวกับพระเครื่องที่ปลุกเสกในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร แม้เป็นพิธีหมู่คือมีครูบาอาจารย์ทั่วประเทศเข้าร่วมนั่งปรก แต่คนส่วนใหญ่ต่างยกให้เป็นพระเครื่องของ 'สมเด็จพระสังฆราช' ไปทั้งหมดเหมือนกัน
เหรียญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 กรมการรักษาดินแดน จัดสร้างขึ้น เพื่อเป็นที่ระลึกพระอนุสรณ์ อนุสาวรีย์ที่ประดิษฐานอยู่หน้าสวนลุมพินี โดยทำขึ้นหลายพิมพ์ทั้งกลมใหญ่ กลมเล็ก และใบเสมา จำนวนสร้างคาดว่าถึงหลักแสน
เมื่อสร้างสำเร็จแล้ว ได้จัด พิธีพุทธาภิเษกขึ้นในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2505 โดยมีพระเกจิคณาจารย์รับนิมนต์มานั่งปรกปลุกเสกหลายรูป อาทิ หลวงพ่อเส่ง วัดกัลยาณมิตร, หลวงปู่อาคม วัดสุทัศน์, หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม, หลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม, หลวงพ่อคล้าย วัดจันดี, หลวงพ่อนาค วัดระฆังฯ, พระสุธรรมธีรคุณ วัดสระเกศ, พระอาจารย์ผ่อง วัดสามปลื้ม, หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก เป็นต้น
ในพิธียังได้มีการอัญเชิญดวงพระวิญญาณของอดีตพระมหากษัตริย์ไทย เพื่อทรงเป็นองค์ประธานและสักขีพยานในพิธีปลุกเสกด้วย
'ท.สิริปัญโญ' หรืออดีต 'พระอาจารย์ทรงชัย สิริปัญโญ' แห่งวัดอุดมรังสี หนองแขม กรุงเทพมหานคร ได้กล่าวถึง 'เหรียญรัชกาลที่ 6' หรือ 'เหรียญ ร.6' ไว้ในหนังสือทำเนียบประวัติของท่านเจ้าคุณนรฯ ว่า
'ในสมัยนั้นข้าพเจ้ายังรุ่นหนุ่ม ยังได้ดูเขาทำพิธีกัน เห็นมีอาสนะว่างอยู่ 2 ที่ เท่าที่จำได้มีพระเกจิอาจารย์จากวัดต่างๆ มานั่งปรกกันเป็นจำนวนมาก และมีพระครูประกาศสมาธิคุณ สำนักวัดมหาธาตุเป็นผู้บรรยาย (โฆษก) ฝ่ายสงฆ์ในสมัยนั้น พอเสร็จพิธีได้มีหลวงพ่ออยู่องค์หนึ่งท่านนั่งปรกอยู่ข้างอาสนะที่ว่าง ท่านได้สอบถามเจ้ากรมการรักษาดินแดนว่าเป็นพระรูปใดที่มานั่งปรกอาสนะข้างท่าน ท่านเจ้ากรมจึงกราบเรียนว่า เป็นอาสนะของท่านเจ้าคุณนรฯ ท่านบอกว่าเห็นมานั่งปรกอยู่ เสร็จแล้วก็ได้หายไปเฉยๆ ยังความแปลกใจให้กับทุกคนที่ได้ยินและได้ฟัง เพราะต่างเห็นว่าว่างเปล่า ไม่เห็นมีใครมานั่งอยู่บนอาสนะนั้น'